วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556


ขนมไทย

         ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่างานทำบุญ เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้กำลังคนอาศัยเวลาในการทำพอสมควร ส่วนใหญ่เป็น ขนบประเพณี เป็นต้นว่า ขนมงาน เนื่องในงานแต่งงาน ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครก ขนมถ้วย ฯลฯ ส่วนขนมในรั้วในวังจะมีหน้าตาจุ๋มจิ๋ม ประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนมสวยงามขนมไทยดั้งเดิม มีส่วนผสมคือ แป้ง น้ำตาล กะทิ เท่านั้น ส่วนขนมที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน นั้น มารี กีมาร์ เดอ ปีนา (ท้าวทองกีบม้า) หญิงสาวชาวโปรตุเกส เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา
              ขนมไทยที่นิยมทำกันทุกๆ ภาคของประเทศไทย ในพิธีการต่างๆ ก็คือขนมจากไข่ และเชื่อกันว่าชื่อและลักษณะของขนมนั้นๆ เช่น รับประทานฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกันยืดยาว มีอายุยืน รับประทาน ขนมชั้นก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน รับประทาน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เจริญ รับประทานขนมทองเอก ก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น
             ในสมัยรัชกาลที่ 5มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ รวมถึงตำราขนมไทยด้วย จึงนับได้ว่าวัฒนธรรมขนมไทยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ตำราอาหารไทยเล่มแรกคือแม่ครัวหัวป่าก์ในสมัยต่อมาเมื่อการค้าเจริญขึ้นในตลาดมีขนมนานาชนิดมาขาย และนับว่าาเป็นยุคที่ขนมไทยเป็นที่นิยม
ขนมไทยแต่ละภาค

  • ขนมไทยล้านนา ส่วนใหญ่จะทำจากข้าวเหนียว และส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้ม เช่น ขนมเทียน ขนมวง ข้าวต้มหัวหงอก มักทำกันในเทศกาลสำคัญ เช่นเข้าพรรษา สงกรานต์
  • ขนมไทยภาคกลาง ส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ข้าวตัง นางเล็ด ข้าวเหนียวมูล และมีขนมที่หลุดลอดมาจากรั้ววัง จนแพร่หลายสู่สามัญชนทั่วไป เช่น ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ เป็นต้น
  • ขนมไทยภาคอีสาน เป็นขนมที่ทำกันง่ายๆ มักใช้ในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน โดยชาวบ้านนำข้าวที่ห่อใบตอง มัดด้วยตอกแบบข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ ข้าวยาคู
  • ขนมไทยภาคใต้ ชาวใต้มีความเชื่อในเทศกาลวันสารท เดือนสิบ จะทำบุญด้วยขนมที่มีเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้เท่านั้น เช่น ขนมลา ขนมพอง ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ ขนมบ้าหรือขนมลูกสะบ้า ขนมดีซำหรือเมซำ ขนมเจาะหูหรือเจาะรู ขนมไข่ปลา ขนมแดง เป็นต้น

ความหมายของขนมไทย

              โดยการทำขนมไทยนี้เป็นการบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของคนไทยในเรื่องความอดทนใจเย็นละเอียดอ่อนและช่างสังเกตทั้งยังได้แฝงความหมายอันลึกซึ้งไว้ของขนมไทยแต่ละชนิดด้วย เช่น

-ขนมชั้น หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง
-ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญ เฟื่องฟู รุ่งเรือง
-ขนมเม็ดขนุน หมายถึง ความเกื้อหนุนจุนเจือ ทำกิจการใดก็จะมีผู้คอยสนับสนุน
-ขนมทองเอก หมายถึง ความเป็นหนึ่ง
-ขนมเสน่ห์จันทร์ หมายถึง ความมีเสน่ห์ดุจจันทร์วันเพ็ญ
-ขนมจ่ามงกุฎ  หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า เป็นหัวหน้า เลื่อนยศ
-ขนมตาล  หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่นของชีวิต
-ขนมลูกชุบ หมายถึงความน่ารักน่าเอ็นดู มักใช้เมื่อผู้ใหญ่มอบขนมให้กับผู้น้อย
-ข้าวเหนียวแก้ว  หมายถึง ความดีประเสริฐ ดุจดังแก้ว เป็นต้น